เราคงจะเคยได้ยินคำนี้อยู่บ่อยครั้งว่า “ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” อย่างผลสำรวจล่าสุดปี 2567 ก็พบว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เพราะประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ วัย 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ทั้งนี้ในหลายประเทศทั่วโลกก็มีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และยังมีอัตราการเกิดที่ลดลงอีกด้วย สิ่งสำคัญที่เราต้องเผชิญเลยก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ๆมีลูกกันน้อยลง และผู้สูงอายุต้องเผชิญกับการอยู่เพียงลำพังมากขึ้น
มีการคาดการณ์ว่า ราวปี 2030 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เพราะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนในประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรเพียง 0.18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ซึ่งในแต่ละประเทศทั่วโลกต่างก็มีนโยบายสังคมผู้สูงอายุเพื่อบริหารและจัดการประชากรในประเทศได้ อย่างประเทศญี่ปุ่น มีการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ รวมถึงก่อตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพระยะยาวของผู้สูงอายุที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมองว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถและยังมีศักยภาพช่วยขับเคลื่อนสังคมได้
ส่วนอิตาลีมีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุด้วยการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชน และขยายอายุการเกษียณออกไปที่ 65 – 70 ปี เพื่อเพิ่มจำนวนคนทำงาน และยังมีนโยบายให้ผู้สูงอายุเลือกได้เองว่าจะย้ายไปบ้านใหม่ เลือกอาศัยอยู่กับครอบครัว ย้ายไปบ้านพักคนชรา หรือไปอยู่ที่ไหนก็ได้เพื่อให้พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ก็มีสวัสดิการที่ควรรู้ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ได้ครบตามเงื่อนไขดังนี้
1. เบี้ยยังชีพ รายเดือน
2. สิทธิประกันสังคม กรณีชราภาพ
3. เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ ในภาวะยากลำบาก
4. เบี้ยหวัด บำเน็จบำนาญราชการ
5. การปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย
6. เงินทุนสำหรับประกอบอาชีพรายบุคคล
ทั้งนี้สิ่งสำคัญเพื่อเตรียมรับมือเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ คือ การเตรียมวางแผนการออม การใช้ชีวิตในบั้นปลาย การร่วมมือกันในชุมชน การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ การปรับตัวทางด้านสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวัยผู้สูงอายุ ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการช่วยเตรียมทั้งชีวิตของตัวเอง และองค์รวมทั้งประเทศที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆให้รับมือกับอนาคตและแผนชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี
และเพื่อลดภาวะวิกฤตในสังคมผู้สูงวัยที่จะมาถึง องค์การอนามัยโลกได้แนะนำ 3 องค์ประกอบสำคัญสำหรับปรับใช้กับสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพดี ทำให้ทุกคนมีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต รวมถึงทำให้ผู้สูงวัยได้มีส่วนร่วมและมีคุณค่าทางสังคม เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงาน มีรายได้ที่คุ้มค่า เพื่อช่วยลดภาระพึ่งพิงสวัสดิการจากภาครัฐ พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนทุกช่วงวัยได้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกยุคสมัย