ข้อควรระวังการผ่าตัดเสริมสวยในคนสูงวัย

ในสังคมปัจจุบัน คนนิยมเสริมสวย และ ศัลยกรรมกันมากขึ้น ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ การผ่าตัดเสริมสวย เพื่อเสริมความสวยงาม และบุคลิกภาพ จึงเห็นได้บ่อย แน่นอนว่า พอระยะยาว ถึงวัยสูงอายุ สิ่งเหล่านี้ก็อาจเกิดผลที่ตามมาก็ได้ เราต้องควรรู้ ข้อควรระวังก่อนจะผ่าตัดเสริมสวยในคนสูงวัย

โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข(chanwalee@srisukho.com)

การผ่าตัดเสริมสวย(Cosmetic Surgery) เพื่อเสริมความสวยงาม และบุคลิกภาพ เป็นหัตถการยอดนิยม ทั่วโลกมีจำนวนผู้ผ่าตัดเสริมสวยเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ2-5  ต่อปี สำหรับประเทศไทยตลาดการผ่าตัดเสริมสวย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลในปี 2559-61มูลค่ารวมต่อปี เพิ่มจาก 30,000ล้านบาท เป็น 36,000ล้านบาท และ45,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เป็นมูลค่าสูง ติดอันดับที่8 ของโลก 

          การผ่าตัดเสริมสวยนั้น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากอายุมาก 

         ข่าวหน้าหนึ่ง 23 มีนาคม 2565 ศาลอุทธรณ์ยืนโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน หมอร้อยไหม ทำไฮโซหญิงอายุ 72 ดับคาคลินิก แค่ฉีดยาชา ยังไม่ได้ลงมือร้อยไหม

การผ่าตัดเสริมสวย แบ่งเป็น 5 ชนิดดังนี้

  1. เสริมสวยเต้านม เช่น เพิ่มขนาด ลดขนาด ยกหน้าอก ยกหัวนม ลดขนาดหัวนม ฯลฯ 
  2. เสริมสวยใบหน้า เช่น ทำตาสองชั้น ทำจมูก เหลาคาง ทำโหนกแก้ม ทำปากกระจับ ฯลฯ  
  3. ทำใบหน้าให้อ่อนเยาว์ เช่น ยกหน้า ยกคอ ยกคิ้ว แก้หนังตาตก ฉีดไขมัน ฯลฯ  
  4. เปลี่ยนแปลงรูปร่าง เช่น ตัดไขมัน ผ่าตัดตกแต่งหน้าท้อง ดูดไขมัน ตัดเต้านมฯลฯ  
  5. ทำผิวหนังให้อ่อนเยาว์ เช่น ขัดผิวด้วยเลเซอร์ ลอกผิวด้วยสารเคมี ฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์  ร้อยไหมฯลฯ

สำหรับประเทศไทย การผ่าตัดเสริมสวยที่นิยม 5 อันดับต้น ได้แก่ เสริมเต้านม ดูดไขมัน ทำจมูก ทำตา ฟิลเลอร์โบท็อกซ์ร้อยไหม

ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเสริมสวย แล้วแต่ชนิดของการผ่าตัดเสริมสวย โดยเฉลี่ยพบประมาณร้อยละ 10 แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ เช่นการฉีดฟิลเล่อร์ โบท็อกซ์ พบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าร้อยละ 1 แต่การผ่าตัดเสริมสวยบางชนิด เช่นผ่าตัดยกสะโพก(Medial thigh lift)มีภาวะแทรกซ้อนถึงร้อยละ 42

โดยทั่วไป การผ่าตัดเสริมสวยถือว่าปลอดภัย มีอันตรายน้อย แต่มีข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าจะทำโดยแพทย์คนไหน เชี่ยวชาญอะไร ภาวะแทรกซ้อน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนไข้ทุกคน คนไข้อายุมาก มีโรคแทรกซ้อน การผ่าตัดยุ่งยาก ใช้เวลานาน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง แต่บางครั้ง การเสียชีวิต ก็เกิดจากการผ่าตัดเสริมสวยขนาดเล็ก(Minor surgery) ใช้ยาชาเฉพาะที่ และใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน ดังคดีที่ยกตัวอย่างมา

สาเหตุของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเสริมสวย 

  1. ชนิดของการผ่าตัดเสริมสวย
  2. การใช้ยาชา ยาสลบ
  3.  เทคนิค การผ่าตัด ความชำนาญของแพทย์
  4.  การเตรียมพร้อมของสถานพยาบาลด้านอุปกรณ์ เครื่องมือผ่าตัด มอนิเตอร์สัญญาณชีพ ยากู้ชีพ
  5.   โรคประจำตัวของคนไข้ 

ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเสริมสวย ได้แก่

  1.  ผลไม่เป็นไปตามคาดหวัง(poor cosmetic outcome) พบร้อยละ 20 ไม่สวยไม่ดูดีตามคาด บางคนบอกว่าดูแย่กว่าก่อนผ่าตัด ข้อนี้พบมากที่สุด
  2. อักเสบติดเชื้อ พบได้ถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่า หากเป็นน้อยการใช้ยาปฏิชีวนะอาจช่วยได้ หากเป็นมากต้องผ่าตัดแก้ไข เอาซิลิโคน หรือของเทียม ที่เสริมออก
  3. ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเสริมสวย อื่น ๆที่พบไม่ถึงร้อยละ 10
    ได้แก่     
    มีเลือดคั่ง ทำให้บวม เจ็บ ห้อเลือด หากก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ อาจทำให้การไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงไม่ปกติ เนื้อเยื่อขาดเลือด ต้องผ่าตัดแก้ไข
    เนื้อตาย(necrosis)อาจเกิดจากการผ่าตัดโดยตรง หรือเกิดจากการอักเสบติดเชื้อจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก
    เลือดออก อาจจะออกในขณะผ่าตัด หรือออกหลังผ่าตัด ถ้าออกมาก อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต
    มีน้ำเหลืองคั่ง(Seroma)มีน้ำเหลืองคั่งบริเวณที่ผ่าตัด มักเป็นการผ่าตัดใหญ่เช่น ตัดไขมันหน้าท้อง ตัดเต้านม หากเป็นมาก ต้องผ่าตัดแก้ไข เป็นต้น
    ลิ่มเลือดอุดตัน หากเกิดต้องรักษา หากอุดตันบริเวณเส้นเลือดที่แขนขาจะเสี่ยงน้อยกว่าอุดตันที่สมอง หัวใจ ปอด ซึ่งอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต
  4. ปัญหาจากการใช้ยาชา ดมยาสลบ เป็นสาเหตุอันดับต้น ของการเสียชีวิตจากการผ่าตัดเสริมสวย 
  5. หายแล้วเกิดเป็นแผลเป็น แผลดึงรั้ง ไม่สวยงาม 
  6. บาดเจ็บระบบประสาท เช่นตาบอด ไม่สามารถขยับนิ้ว แขน ขา หนังตาตก ปากเบี้ยว เป็นต้น  
  7. เสียชีวิต จากภาวะแทรกซ้อนของยาชา ยาสลบ การสำลัก การเสียเลือด  

9 ข้อ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเสริมสวยในสาวสูงวัย

  1. ควรรู้ และยอมรับข้อจำกัด เช่น ผลของการผ่าตัดเสริมสวยอาจไม่เป็นไปตามคาดหมาย
  2. ไม่ควรเสี่ยงผ่าตัดเสริมสวยหาก อายุมาก อ้วนมาก สูบบุหรี่จัด มีภูมิต้านทานบกพร่อง มีประวัติแพ้ยาแพ้อาหารหลายอย่างหรือรุนแรง เป็นโรคจิตโรคประสาท ย้ำคิดย้ำทำ คาดหวังสูง กำลังป่วย มีไข้ หยุดหายใจในขณะนอนหลับ หอบเหนื่อยง่าย มีโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ไม่ดี เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หัวใจ ภูมิแพ้ ปอด ตับไต รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยากดภูมิต้านทาน
  3. ควรเลือกแพทย์ผู้ผ่าตัด มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ ในหัตถการที่ทำ หัตถการต้องปลอดเชื้อ ห้องผ่าตัดสะอาด ปลอดภัย เครื่องมือครบ มีเครื่องมือช่วยชีวิต หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  4. ในกรณีที่มีการใช้ยาสลบ ต้องมีวิสัญญีแพทย์ หรือวิสัญญีพยาบาล ผู้ช่วยผ่าตัด ช่วยดูแลคนไข้ ในขณะที่ทำหัตถการและหลังทำหัตถการจนคนไข้ปลอดภัย
  5. ไม่เชื่อหมอกระเป๋า หิ้วอุปกรณ์ไปทำที่บ้าน เพราะอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า
  6. เลือกสถานพยาบาลที่ผ่านการประเมิน มาตรฐาน ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ สะอาดสะอ้าน มีอุปกรณ์พร้อมครบ  มีห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้น
  7. ตรวจสอบยาหรือวัสดุ ที่ใช้ มีมาตรฐานตามอย.ไม่หมดอายุ
  8. ไม่เลือกการผ่าตัดเสริมสวย ที่ราคาถูก ควรมีงบประมาณเพียงพอเพราะราคามักจะผันแปรโดยตรงกับคุณภาพเสมอ
  9. ก่อนเซ็นยินยอมผ่าตัดเสริมสวย  ต้องเข้าใจขั้นตอนการทำ ความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน ผลที่จะเกิดขึ้น และการดูแลตนเองหลังผ่าตัด

References

  1. Shiel Jr. WC. Medical Definition of Complication. https://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=25405 [Accessed 30 June 2020].
  2. Demosthenous N. Consultation skills: a personal reflection on history-taking and assessment in aesthetics. Journal of Aesthetic Nursing 2017;6(9).
  3.  Vedamurthy M, Vedamurthy A, Nischal KC. Dermal fillers: do’s and don’t’s. J Cutan Aesthet Surg 2010;3:11-5.
  4. Jafferany M, Salimi S, Mkhoyan R, et al. Psychological aspects of aesthetic and cosmetic surgery: clinical and therapeutic implications. Dermatol Ther 2020;e13727.
  5.  Lazzeri D, Agostini T, Figus M, et al. Blindness following cosmetic injections of the face. Plast Reconstr Surg 2012;129:995-1012.
  6. Bayman EO, Dexter F, Laur JJ, Wachtel RE. National incidence of use of monitored anesthesia care. Anesth Analg 2011; 113:165.
  7. American Society of Anesthesiologists Task Force on Sedation and Analgesia by Non-Anesthesiologists. Practice guidelines for sedation and analgesia by non-anesthesiologists. Anesthesiology 2002; 96:1004.
  8. Apfelbaum JL, Silverstein JH, Chung FF, et al. Practice guidelines for postanesthetic care: an updated report by the American Society of Anesthesiologists Task Force on Postanesthetic Care. Anesthesiology 2013; 118:291.
  9. https://www.freepik.com/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า