ความรู้และความเข้าใจเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ

เมื่อร่างกายอ่อนแอลง และเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ สารพัดโรคที่จะถาโถมเข้ามานั้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องหาวิธีรักษาและแก้ไขมัน รวมถึง การทำความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น หรือ ก่อนที่ โรคอื่นๆจะตามมา เพราะฉะนั้นเราต้องรับมือ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพเสียก่อน รวมถึงแน่ใจว่าข่าวสารที่เราอ่าน และศึกษานั้นถูกต้อง

Health literacy : ความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องสุขภาพ สิ่งจำเป็นมากในคนสูงวัย 

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข(chanwalee@srisukho.com)

มีความสงสัยมากมายว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ทางสุขภาพที่ไม่ควรเกิดในผู้สูงอายุ  เช่น

  1. โควิด-19 เดือนมกราคม 65 มีการระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่ ครอบครัวหนึ่งพ่อแม่อายุมาก มีโรคประจำตัว ลูก ๆกลัวผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด จึงไม่ให้พ่อแม่ที่อายุ 83,81 ปี ฉีดวัคซีนโควิด ต่อมาลูกมาเยี่ยมบ้าน โดยไม่ทราบว่าตนเองเสี่ยงสูง เนื่องจากมีเพื่อนร่วมงานติดโควิด ตามมาด้วยพ่อแม่ติดโควิด พ่อแม่ป่วยหนัก เชื้อโควิดลงปอด แม่รอดชีวิต ส่วนพ่อที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องเข้าไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ ภายหลังเสียชีวิต
  2. ถั่งเช่า ชายวัย 60 เป็นโรคกระดูกทับเส้น ต้องผ่าตัด กระดูกสันหลัง เนื่องจากเชื่อโฆษณาว่า กินถั่งเช่า แล้วภูมิต้านทานดี รักษาตับ ไต เขาจึงซื้อมากินก่อนผ่าตัดหลายกระปุก ไม่คิดว่าเกี่ยวข้องกับการผ่าตัด จึงไม่ได้แจ้งให้แพทย์พยาบาลทราบ  ถั่งเช่ามีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด ส่งผลให้การผ่าตัดเสียเลือดมากถึง 5,000 ซีซี  เลือดหยุดยาก ต้องนอนไอซียูหลายวัน ระดมให้เลือด และสารแข็งตัวของเลือด แม้ไม่เสียชีวิต แต่ก็เกือบไ
  3. คันช่องคลอด หญิงอายุ 57 ปี มารพ.ด้วยเรื่องคันช่องคลอด คันรุนแรงจนเกาและมีแผลแสบ ประวัติคือเป็นโรคเบาหวาน ปกติรับยาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ในช่วงที่โควิดระบาด เธอไม่เข้ารพ. หยุดรับประทานยาเบาหวานมาได้สามเดือน ผลการตรวจเป็นเชื้อราในช่องคลอดอย่างรุนแรง มีระดับน้ำตาลขึ้นถึง 400 mg/dl ความดันโลหิตสูง และมีไตเสื่อม เธอไม่เข้าใจว่า การควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดเชื้อราในช่องคลอดอย่างรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง และไตวายอีกด้วย เนื่องจากโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดอักเสบทั่วร่างกาย 
  4. งูสวัด ชายอายุ82 ปี เป็นงูสวัด คนที่รู้จักบอกว่า ติดเชื้อมาจากต้นไม้ใบหญ้า ไปพ่นไปเป่าก็หาย ชายสูงอายุทำตาม เกิดการอักเสบติดเชื้อลุกลาม ต้องเข้าโรงพยาบาล ถึงรักษาหาย ก็ไม่หายขาด มีอาการปวดเส้นประสาท ตามมาเป็นช่วง ๆ อาการปวดรุนแรงมาก นานหลายปี ต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นประจำ ฯลฯ

 

สาเหตุที่เกิดเหตุการณ์ทางสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ ไม่ตระหนัก ปฏิบัติตนไม่ถูกวิธี ตามด้วยการเจ็บป่วยรุนแรง สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ซึ่งรวมทุกเพศทุกวัย 

สำหรับคำตอบ ที่เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ ได้อย่างถาวรคือ Health literacy

Health literacy คืออะไร

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(2541) แปลว่า ความแตกฉานทางสุขภาพ 

องค์การอนามัยโลก ให้คำจำกัดความ ว่า “ความสามารถของแต่ละบุคคล ที่จะเข้าถึง เข้าใจ ใช้ข้อมูล ในการรับบริการทางสุขภาพและตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม1 ( “The degree to which individuals have the capacity to obtain, process, and understand basic health information and services needed to make appropriate health decisions”)

ในที่นี้ผู้เขียน ขอแปลความหมาย Health literacy ว่า คือ ความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องสุขภาพ

ความสำคัญของ ความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องสุขภาพ

งานวิจัยพบว่า พลเมืองสหรัฐอเมริกา ประมาณครึ่งหนึ่ง ขาด Health literacy2 เชื่อว่า  ความเครียด ความกลัว ความเหน็ดเหนื่อย ภาระที่แบก ลดความสามารถของบุคคลที่จะเข้าถึงเข้าใจข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ หากมีความรู้จำกัด  Health literacyต่ำ ไม่มีข้อมูลทันสมัย ไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไข้ ไม่ยอมรับ ไม่รับรู้ สาเหตุของโรคที่เป็น ภาวะแทรกซ้อน การดำเนินการไปของโรค ไม่เชื่อแพทย์ รักษาโรคตามสามัญสำนึกตน

งานวิจัยผลกระทบของ Health literacyต่อผลการรักษาและสุขภาพของคนไข้ ในคนไข้โรคหัวใจล้มเหลว3-8 จำนวน 2,487 คน พบว่า ร้อยละ 10.1 มีHealth literacyที่ต่ำ เมื่อติดตามไปนาน  15.5 เดือน มีคนไข้เสียชีวิต 250 ราย นอนโรงพยาบาล 1,584ครั้ง 

Health literacyที่ต่ำ สัมพันธ์กับอัตราตายที่สูงขึ้น 1.91เท่า สัมพันธ์กับการนอนโรงพยาบาลที่สูงขึ้น 1.30 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่มี Health literacy เพียงพอ

ปัญหาสุขภาพในบ้านเมืองเรานั้น มีรากฐานมาจาก การขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องสุขภาพ ประชาชนทุกคน จึงต้องมี Health literacy  เพื่อทำให้มีข้อมูลทางสาธารณสุขเพียงพอจนเข้าใจ มั่นใจ นำไปปฏิบัติจน เกิดผลดีต่อสุขภาพ

Health Literacy จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องสุขภาพ ไม่อาจเกิดได้เอง แต่ต้องอาศัยคุณลักษณะสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ 

  1. มีการสนับสนุนแหล่งความรู้  ที่สามารถเข้าถึงหรือได้มาทางด้านสุขภาพ

    นั่นคือ บุคคลต้องมีความรู้เบื้องต้นเป็นพื้นฐาน และมีแหล่งความรู้ ที่ทันสมัยและถูกต้อง เช่น ตำรา เว็บไซต์วิชาการ การฝึกอบรม ครูบาอาจารย์ โซเชี่ยล บุคลากรทางการแพทย์ ที่เชื่อถือได้

  2. สร้างองค์ความรู้ เกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

    บุคคลต้องสนใจ อั๊พเดดความรู้ในปัจจุบัน ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ไม่เชื่อข้อมูลที่แชร์ต่อ ๆกันมา ไม่รู้ ต้องอ่าน ฟัง พูดคุย ปรึกษาผู้รู้ที่เกี่ยวข้อง เช่นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เมื่อเกิดความสงสัย ต้องค้นคว้า หรือถามผุ้รู้จนเข้าใจ

  3. จัดตั้งกลุ่ม นำความรู้ความเข้าใจมาสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน

    เช่น กลุ่มวิชาการ กลุ่มไลน์ กลุ่มในสื่อโซเชี่ยล กลุ่มในสถานศึกษา กลุ่มเพื่อน กลุ่มสูงวัย กลุ่มเพื่อนเกษียณ กลุ่มเพื่อนร่วมโรค เป็นต้น

  4. เป็นผู้ที่สามารถดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อเป็นตัวอย่างผู้อื่นได้

    ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เมาไม่ขับ ลดน้ำหนัก ทำตามนโยบาย 5อ. ออกกำลังกาย ดูแล ด้านอาหาร อารมณ์ อากาศ การขับถ่ายอุจจาระ เป็นต้น

  5. สามารถถ่ายทอดความรู้

    เรื่องการดูแลสุขภาพพื้นฐาน การรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้ครอบครัว กลุ่ม เพื่อนและชุมชน 

  6. รู้เท่าทันสื่อ

    ไม่แชร์ข่าวปลอม(Fake news)ทางสุขภาพ และการโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง ซึ่ง ระบาดหนัก สร้างปัญหาให้สังคม ควรอ่านเนื้อหาข่าวทางสุขภาพอย่างละเอียดระมัดระวัง อย่าเชื่อว่าเป็นข่าวมาจากสถาบันที่เชื่อถือได้จริง จนกว่าได้รับการพิสูจน์ ไม่แน่ใจควรสอบถามผู้รู้ เช็คแหล่งที่มาของข่าว

จากปัญหาสุขภาพที่ยกตัวอย่างมา เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามี Health literacy เช่น

  1. การระบาดโควิด 19 

    Health literacy : โควิดระบาด พ่อแม่ต้องรู้เรื่องการป้องกันโควิด ลูกจะไม่เดินทางจากแหล่งเสี่ยง เพราะอาจเป็นพาหะ นำโรคมาติดต่อพ่อแม่และทุกคนในบ้านได้ วัคซีนอาจมีผลข้างเคียงบ้าง แต่เป็นอันตรายน้อยกว่าการติดโควิดมาก หากไม่ฉีดพ่อแม่ต้องยกการ์ดสูง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ไปในที่ชุมชน ใช้ช้อนส่วนตัว  

  2. กินถั่งเช่า ก่อนผ่าตัด

    Health literacy : ถั่งเช่า อย.ให้ติดฉลากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยา ถือเป็นสารอาหาร เพื่อบำรุงสุขภาพ ไม่สามารถใช้ป้องกันหรือรักษาโรค แต่ทางแพทย์แผนจีน ถือเป็นยา ที่ต้องพบแพทย์ หากกินเป็นอาหาร อาจจะได้รับสารหนูเกินขนาด ถั่งเช่ามีผลข้างเคียง คือละลายลิ่มเลือด ไม่กินก่อนผ่าตัด เพราะจะทำให้ตกเลือด หรือถ้ากินต้องแจ้งให้แพทย์พยาบาลทรา

  3. โรคเบาหวาน

    Health literacy : โรคเรื้อรังทุกชนิด ต้องรักษาให้ใกล้เคียงปกติ เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ จนถึงแก่ชีวิตได้ เบาหวานเป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบเส้นเลือดทั่วร่างกาย จึงตามมาด้วยความดันโลหิตสูง ไตเสื่อม ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อราฯลฯ ถึงเป็นยุคโควิดระบาด ก็ต้องดูแลโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆให้เหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม โดยรับประทานยาตามแพทย์สั่ง พบแพทย์ตามนัด ถามจนเข้าใจ ถึงการปฏิบัติตัว การดูแลตนเอง อาการผิดปกติที่ต้องไปพบแพทย์ทันที

  4. งูสวัด 

    Health literacy : ควรรีบไปหาหมอเมื่อเป็นงูสวัด เพราะ โรคงูสวัดเกิดจาก เชื้ออีสุกอีใสที่แอบอยู่ในปมประสาทในตัว กำเริบเมื่ออายุมาก และร่างกายอ่อนแอ ผื่นมีลักษณะพิเศษเป็นตุ่มใส เจ็บแสบปวดร้อน ไม่รักษาก็หายได้ในรายที่เป็นไม่มาก แต่หากได้รับยาต้านไวรัสช้า อาจจะเกิดอาการปวดประสาทตามมา  ในรายที่เป็นรุนแรง งูสวัดขึ้นประสาทสมอง อาจจะเกิดตาบอดและพิการทางสมองได้ 3 เดือนหลังจากหายดี ควรรับวัคซีนป้องกันงูสวัดเพื่อป้องกันการเกิดงูสวัดกลับเป็นซ้ำ

References : 

  1. Davis TC, Long SW, Jackson RH, et al. Rapid estimate of adult literacy in medicine: a shortened screening instrument. Fam Med 1993; 25:391.
  2. Paasche-Orlow MK, Parker RM, Gazmararian JA, et al. The prevalence of limited health literacy. J Gen Intern Med 2005; 20:175.
  3. Institute of Medicine. IOM report 2004. www.iom.edu (Accessed on October 10, 2017).
  4. Fabbri M, Yost K, Finney Rutten LJ, et al. Health Literacy and Outcomes in Patients With Heart Failure: A Prospective Community Study. Mayo Clin Proc 2018; 93:9.
  5. Peterson PN, Shetterly SM, Clarke CL, et al. Health literacy and outcomes among patients with heart failure. JAMA 2011; 305:1695.
  6. Ventura HO, Piña IL. Health Literacy: An Important Clinical Tool in HeartFailure. Mayo Clin Proc 2018; 93:1.
  7. Deek H, Itani L, Davidson PM. Literacy critical to heart failure management: a scoping review. Heart Fail Rev 2020.
  8. Jacobson AF, Sumodi V, Albert NM, et al. Patient activation, knowledge, and health literacy association with self-management behaviors in persons with heart failure. Heart Lung 2018; 47:447.
  9. https://www.freepik.com/

Categories

บทความล่าสุด

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า