“ญี่ปุ่น” เมืองสังคมผู้สูงวัย (ตอนที่ 3 ปัญหาของผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น)

ปัจจุบัน เนื่องจาก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยค่อนข้างมาก และติดอันดับสูงสุดของโลก นับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในประเทศที่ยังต้องรับมือ นอกจากนี้ ญี่ปุ่น ยังเป็น สังคมสูงวัยใน“ระดับสุดยอด” (Super-aged society) นั่นคือมีสัดส่วนของผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่าถึงร้อยละ 28.7 ตามสถิติเมื่อเดือนกันยายนปีค.ศ. 2020 การมีผู้สูงวัยในสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก ก็หมายความว่า คนในวัยทำงานที่เป็นผู้หารายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีสัดส่วนน้อยลง เงินที่หาได้น้อยลง เงินออมน้อยลง ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา โดยในบทความนี้ชี้ให้เห็นปัญหาห้าประเด็นสำคัญได้แก่ เรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงวัย, เรื่องบำนาญ, เรื่องระดับความยากจนในหมู่ผู้สูงวัย, เรื่องการเปลี่ยนภูมิทัศน์พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัย และสุดท้ายเรื่องการจัดการศึกษา

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกลายเป็นสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น

ประการแรก คือ เรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ  ดังที่ D’ Ambrogio (2020) ได้ให้ตัวเลขไว้ว่า ในปี 2018 สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศญี่ปุ่นเป็นร้อยละ 10.9 ซึ่งสูงกว่าของสหภาพยุโรปในปี 2017 ซึ่งเป็นร้อยละ 9.9 ค่าใช้จ่ายนี้เมื่อคิดต่อหัวต่อปีจะเป็น 337,000 เยน (87,451 บาท*) แต่ถ้าคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไป พบว่าเป็นจำนวนถึง 4 เท่าของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 75 ปี นั่นคือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อปีถึง 939,000 เยน (243,670.5 บาท*) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของผู้ที่มีอายุน้อยกว่าเป็นจำนวน 222,000 เยน (57,609 บาท*)

ประเด็นที่สอง คือเรื่องของบำนาญหรือเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงวัยญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากประเทศในโลกตะวันตกเช่น ในทวีปยุโรปและอเมริกาที่ได้รับบำนาญน้อยลง การที่ผู้สูงวัยชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้นก็มีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องนี้ นั่นคือบำนาญที่ได้น้อยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น แต่ถ้าหากเอาเงินบำนาญจำนวนนั้นมาใช้จ่ายในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเช่นประเทศไทย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ จะอยู่ได้สบายกว่า ประเทศไทยเองก็พยายามหารายได้จากช่องว่างนี้ โดยทำโครงการเชิญชวนให้ผู้สูงวัยชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาว แลกกับการที่ผู้สูงวัยชาวต่างประเทศที่จะต้องวางเงินก้อนมัดจำไว้

งานวิจัยที่เกี่ยวกับรูปแบบการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวเพื่อรองรับชุมชนผู้สูงอายุของญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยปานเสก อาทรธุระสุขและคณะ (2561) แสดงให้เห็นว่าเงินบำนาญรายเดือนของคนญี่ปุ่น ที่ได้ประมาณ 150,000 เยน(37,897.5 บาท*) จะพอดีกับค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ญี่ปุ่น แต่ถ้าอยู่ในประเทศไทย เงินจำนวนนี้ จะใช้จ่ายได้พอสำหรับสองคน ตัวเลขในปี 2015 พบว่า คนญี่ปุ่นย้ายออกจากประเทศญี่ปุ่นไปมีถิ่นพำนักระยะยาวในต่างประเทศถึง 1.5 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทยในปี 2018 มีคนญี่ปุ่นที่มีพำนักระยะยาว 72,754 คน ส่วนใหญ่ (จำนวน 52,871 คน) อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ  รองลงมาเป็นชลบุรี มีคนญี่ปุ่นจำนวน 7,184 คน และเชียงใหม่มี 2,489 คน 

ปัญหาของสังคมสูงวัยประเด็นที่สาม เป็นเรื่องระดับความยากจนในกลุ่มผู้สูงวัย โดยทั่วไปเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือบำนาญจะมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว แต่ในบรรดาผู้สูงวัยทั้งหมดบางคนได้น้อยมาก ถือว่าอยู่ต่ำกว่าระดับความยากจน และในบรรดาผู้สูงวัยที่ยากจน พบว่าผู้หญิงอายุ 65 ปีและมากกว่า จะมีสัดส่วนผู้ที่ยากจนมากกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน (ปี 2017)  และเมื่อจำแนกประเภทของผู้หญิงที่ยากจนตามสถานภาพการสมรสพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีจะมีรายได้มากกว่าผู้หญิงโสดและผู้หญิงที่เป็นแม่หม้าย โดยผู้หญิงที่มีสามีร้อยละ 14 มีรายได้ต่ำกว่าระดับความยากจน ในขณะที่ ผู้หญิงโสด ร้อยละ 35 และแม่หม้ายร้อยละ 30 มีรายได้ต่ำกว่าระดับความยากจน D’Ambrogio (2020) ยังรายงานอีกว่า ผู้หญิงสูงวัยอยู่คนเดียวมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า ทั้งนี้เนื่องจากผู้หญิงอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย สำหรับผู้หญิงที่อยู่กับลูก(อย่างน้อย 1 คน) มีร้อยละ 40  พบว่าผู้สูงวัยที่อยู่ตัวคนเดียวบางคนเสียชีวิตอยู่ในบ้านคนเดียวโดยกว่าที่ผู้อื่นจะทราบก็ผ่านไปหลายวัน  เรียกกันว่าเป็นการตายอย่างโดดเดี่ยว (lonely death)

การแก้ปัญหาความยากจนหรือความขัดสนของผู้สูงวัย วิธีแรกคือการทำงานหารายได้เพิ่มเติม พบว่าในปี 2020 ผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปีจำนวน 8.92 ล้านคน ยังทำงานอยู่  จำนวนผู้สูงวัยที่ทำงานนี้เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 13.3 ของแรงงานทั้งหมด จำนวนผู้สูงวัยที่ยังทำงานอยู่นี้คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 47.1 ของผู้สูงวัยทั้งหมดในปี 2018  

แต่ผู้สูงวัยที่ยากจนจำนวนหนึ่งกลับแก้ปัญหาความขัดสนด้วยการขโมยของ จากการสรุปข้อมูลของ  Prachuab Wangjai | Facebook พบผู้ต้องขังหญิง 1 ใน 5 คนเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า และผู้ต้องขังหญิง 9 ใน 10 ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานขโมยของตามร้าน นักโทษหญิงคนหนึ่งให้การว่า “สามีของฉันเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว…เราไม่มีลูกด้วยกัน เมื่อเขาตาย ฉันก็อยู่คนเดียว วันหนึ่งไปซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งใจจะซื้อผัก พอดีเหลือบไปเห็นเนื้อวัวเข้า ฉันคว้ามันใส่ตะกร้า ฉันอยากได้ แต่มันแพงเกินกว่าจะซื้อ” ในบางกรณีผู้สูงวัยตั้งใจขโมยของเพื่อจะได้ถูกจับเข้าคุก จะได้มีเพื่อน มีที่พักและอาหารฟรี และเมื่อป่วยก็มีคนดูแลและได้รับการรักษาพยาบาล (D’Ambrogio, 2020)  

ปัญหาของสังคมสูงวัยประเด็นที่สี่ คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการเกษตรและที่อยู่อาศัย โดยพบว่าจำนวนเกษตรกรมีจำนวนลดลง เนื่องจากผู้สูงวัยทยอยเสียชีวิตและไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน โดยลดลงจาก 5.42 ล้านคนในปี 1985 เหลือ 2.09 ล้านคนในปี 2015 การลดลงของจำนวนเกษตรกรและผู้คนที่อาศัยในชนบท ทำให้คาดว่าในปี 2040 หรืออีก 18 ปีจากปัจจุบัน  พื้นที่เมือง ตำบลและหมู่บ้านชนบทจำนวน 896 แห่งจะร้างผู้คน ซึ่งก็หมายความว่าจะมีทุ่งนาและบ้านเรือนที่ถูกทิ้งร้าง ไม่มีผู้อยู่อาศัยและร้านค้าที่ต้องปิดตัวลงมากขึ้น 

ประเด็นสุดท้าย ที่เป็นผลกระทบของการเป็นสังคมสูงวัยและอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำ คือการปิดตัวลงของโรงเรียนทั้งระดับมัธยม และประถม และการที่จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษามีน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มเห็นได้เช่นกันในประเทศไทยซึ่ง ถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์

การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยและการลดลงของประชากรวัยเด็กและวัยทำงานก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาหลายประการ เป็นเรื่องน่าวิตกกังวลของประเทศต่างๆ ที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ผลกระทบโดยตรงในทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด ส่งผลกระทบต่อสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ในหลายด้าน ในหลายประเทศเช่นกรณีประเทศไทย การรับเอาแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน มีส่วนช่วยอย่างมากในการผลักดันทำให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและการบริการ แต่ญี่ปุ่นยังไม่เปิดรับเอาแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนมีแนวโน้มจะซบเซาลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้พยายามปรับแก้นโยบายต่างๆ ที่จะรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เป็นผลกระทบของการเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป

* คำนวณเป็นเงินบาทตาม อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 13 มิถุนายน 2565

อ้างอิงที่มา

D’Ambrogio, Enrico. 2020. “Japan’s Ageing Society,” A Briefing document prepared for, and addressed to, the Members and staff of the European Parliament, by European Parliamentary Research Service.

ปานเสก อาทรธุระสุขและคณะ. 2561. “โครงการรูปแบบของการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวเพื่อรองรับผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย,” รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของมหาวิทยาลัยบูรพา.

ขอขอบคุณรูปภาพจาก :

https://pixabay.com/

https://www.istockphoto.com/

Categories

บทความล่าสุด

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า