โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เมื่อมีอายุเข้าสู่วัย 50 ปี ร่างกายก็จะเสื่อมลง ทั้งทางสมอง ทางอารมณ์ และทางร่างกายซึ่งทำให้มีโรคต่างๆ ตามมามากมาย ถึงแม้จะดูแลตนเองดีแค่ไหน  ดังนั้นการป้องกันและการสังเกตอาการตั้งแต่เนิ่นๆ คือสิ่งสำคัญเพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาที่ทันท่วงที  จากการสำรวจสถิติของโรงพยาบาล ที่รายงานโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ที่เราต้องเฝ้าระวังในพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของเราอย่างใกล้ชิด ดังนี้

1. โรคทางระบบประสาทและสมอง ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงการเกิดโรคทางสมองมากขึ้น ซึ่งพบมากในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เครียด ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ การเสื่อมของเซลล์สมอง และผู้ที่คนในครอบครับมีประวัติเป็นโรคสมอง ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยโรคทางสมองที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน โรคอัมพฟกษ์อัมพาต โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อม หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

2. โรคหัวใจขาดเลือด โรคนี้เกิดจากหลอดเลือดแข็งตัว เพราะมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบหรือแคบลง จนปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด ส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเกิดขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงนอกจากอายุที่มากขึ้น เพศ และประวัติครอบครัวแล้ว ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาหารการกิน และการขาดการออกกำลังกายอีกด้วย

3. โรคตา โรคตาที่ผู้สูงอายุเป็นกันมาก คือ โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรคต้อหิน และน้ำวุ้นตาเสื่อม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ และมีอาการที่แตกต่างกัน แต่สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคตาเกิดจากความเสื่อม เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้การมองเห็นลดลง ดังนั้นเมื่อเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างถูกต้อง

4. โรคทางกระดูก พอเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายก็ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความแข็งแรงของกระดูก” โดยโรคกระดูกที่ผู้สูงอายุเสี่ยง ได้แก่ โรคกระดูกพรุน และ โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งมีสาเหตุ ดังนี้ 

  • โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงผู้สูงอายุ มีสาเหตุสำคัญจากการทำงานของฮอร์โมนที่ลดลง โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน เป็นภาวะที่กระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง ทำให้กระดูกบางและเปราะหักง่ายขึ้น อาการของโรคกระดูกพรุนนี้มักค่อยๆ เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทันได้สังเกตเห็น เช่น รู้สึกปวดตามบริเวณเอว หลัง ข้อมือหรือเริ่มมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น หลังโก่ง ไหล่งุ้ม หรือเตี้ยลง เป็นต้น
  • โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการใช้ข้อเข่ามานาน การรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป มักพบในผู้หญิงสูงอายุมากกว่าผู้ชาย ซึ่งข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อ โดยความเสื่อมที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ แต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากยังมีพฤติกรรม หรือการใช้งานข้อเข่าเช่นเดิมโดยไม่ได้รับการรักษา โดยอาการของโรคนี้ที่พบคือ การเจ็บปวดของข้อและข้อบวม อาการข้อขัด หรือรูปร่างขาโก่งผิดปกติ เหยียดขาได้ไม่สุด ข่อเข่าผิดรูป หรือขาโก่ง

5. โรคไต  ในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมมากขึ้น จะทำหน้าที่ลดลง และเกิดการคั่งของเสียมากขึ้น ดังนั้นความผิดปกติและอาการก็จะแสดงมากขึ้น เช่น อ่อนเพลีย บวม เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูง ถ้าอาการเพิ่มมากขึ้นจนอาจนำไปสู่อาการไตวายเรื้อรังจะมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น ตัวซีด คันตามตัว เบื่ออาหาร อันนำไปสู่การรักษาอย่างการล้างไต ฟอกเลือด และเปลี่ยนไตในที่สุด 

6. โรคความดันโลหิตสูง เมื่ออายุมากขึ้นความดันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสพบโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุก็จะมากกว่าคนที่อายุน้อย รวมไปถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วนก็จะทำให้แรงต้านทานของเส้นเลือดที่อยู่ในร่างกายสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปกติค่าความดันโลหิตของคนทั่วไปจะต้องไม่เกิน 120/80 – 139/89 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งหากมีความดันมากกว่านี้ จะจัดว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคนี้มักจะไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่บางครั้งหากความดันโลหิตขึ้นสูงมากก็จะมีอาการแสดง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง หายใจสั้น หน้ามืด ตาพร่า หากปล่อยไว้นานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

7. โรคเบาหวาน  เป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ อันส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน ก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปัสสาวะและกระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำในปริมาณมากต่อครั้ง อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดโดยไม่มีสาเหตุ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ตาพร่ามัว ตาบอด ไตเสื่อม ชาตามปลายมือปลายเท้า และอาจติดเชื้อได้ง่าย

8. โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ชายสูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตจนกดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน ปัสสาวะออกไม่หมดทำให้เหลือบางส่วนไว้ในกระเพาะปัสสาวะ อันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ ผู้หญิงสูงอายุ มักกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจเกิดจากระบบประสาท สุขภาพจิต กระเพาะหรือทางเดินปัสสาวะผิดปกติ เช่น เกิดการอุดตัน การติดเชื้อ หูรูดไม่ดี

เมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย การดูแลตัวเองและการดูแลจากคนใกล้ชิดจะทำให้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ สามารถบรรเทาความเจ็บป่วย และทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ที่สำคัญการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะเป็นเครื่องมือที่ป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจรุมเร้าเข้ามาได้


ที่มาของข้อมูล: https://www.nakornthon.com/article/getpagepdf/367
https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/10-Disease-in-Elderly
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/june-2017/8-symptoms-geriatric

Categories

บทความล่าสุด

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า