การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและกิจวัตรประจําวันของผู้สูงอายุ เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สาเหตุสําคัญมาจากพฤติกรรมท่าทางที่ไม่เหมาะสมในชีวิตประจําวัน อาทิ การนั่งหลังค่อม การลุกนั่งผิดวิธี การก้มยกของซํ้า ๆ และการบิดเอี้ยวตัวขณะยกของหนัก การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาสําคัญที่พบบ่อยในผู้สูงวัย ซึ่งอาจนําไปสู่ผลกระทบร้ายแรง ทั้งการบาดเจ็บสาหัส การสูญเสียความสามารถในการทํากิจวัตรประจําวัน หรือในกรณีรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงได้พัฒนาอุปกรณ์และแอปพลิเคชันแจ้งเตือนท่าทางและการพลัดตกหกล้มที่มีความแม่นยําและใช้งานง่าย เพื่อช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและอุบัติเหตุในกลุ่มผู้สูงอายุ

โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการออกแบบอุปกรณ์วัดแบบสวมใส่ Gunther IMU (กันเธอร์ ไอเอ็มยู) อุปกรณ์นี้ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้สำหรับการพัฒนาระบบช่วยเฝ้าระวังท่าทางที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม และแจ้งเตือน โดยใช้งานคู่กับแอปพลิเคชัน Janine (เจณีน) ซึ่งเป็นแอปสำหรับการแสดงผลท่าทางของผู้ใช้และแนะนำท่าทางที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวผิดท่าจนสุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและหกล้ม
มุ่งมั่นเพื่อพัฒนานวัตกรรมสู่การใช้งานจริง
ทีมวิจัยพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีพลังและยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ นวัตกรรมนี้ประกอบด้วยอุปกรณ์วัด Gunther IMU แอปพลิเคชัน Janine และชุดสวมใส่ที่มีช่องสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด
อุปกรณ์วัด Gunther IMU เป็นไอเอ็มยูเซ็นเซอร์ (IMU, Inertial Measurement Unit) ที่ใช้ในการตรวจจับความเร็ว ความเร่ง ทิศทาง และองศาการเคลื่อนไหว ซึ่งข้อมูลที่วัดได้จะถูกนำไปคำนวณเปรียบเทียบกับข้อมูลท่าทางที่ถูกต้องที่มีการตั้งค่าอุปกรณ์ไว้ในตอนเริ่มต้น
อุปกรณ์วัด Gunther IMU ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ควบคุมด้วยปุ่มเพียงปุ่มเดียว มีรูปร่างที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าด้านใดเป็นด้านบน-ด้านล่าง จึงช่วยให้ผู้ใช้ติดตั้งอุปกรณ์ในช่องได้อย่างถูกต้อง มีแบตเตอรี่ในตัวที่ใช้งานได้ทั้งวัน และชาร์จไฟได้เหมือนสมาร์ตโฟน

แอปพลิเคชัน Janine เป็นแอปที่ทำหน้าที่หลายอย่าง ได้แก่ เฝ้าระวังการทำท่าทางที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ช่วยแนะนำการทำท่าทางที่ถูกต้อง แจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลในกรณีเกิดการหกล้ม และยังช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม โดยผู้ใช้งานสามารถทำการทดสอบได้ด้วยตัวเองทุกวันหลังจากการตรวจวัดความดันด้วยวิธีการมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทางคลินิก คือ การทดสอบ Timed Up & Go Test ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงเก้าอี้ และพื้นที่โล่งระยะ 3 เมตร เท่านั้น

แอปพลิเคชัน Janine
ชุดที่มีช่องสำหรับใส่อุปกรณ์วัด เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ในชีวิตประจำวัน เช่น ในกรณีผู้สวมใส่เป็นผู้ชาย ชุดที่ใส่อุปกรณ์จะเป็นเสื้อกล้าม ส่วนผู้หญิงจะเป็นชุดชั้นในที่ออกแบบให้มีซิบด้านหน้าเพื่อให้สวมใส่ง่าย โดยผ้าที่เลือกใช้ระบายความร้อนได้ดี สวมใส่สบายสามารถใส่ได้ทั้งวัน และมีความกระชับตัวเพื่อให้อุปกรณ์ที่ติดตั้งตรงตำแหน่งมากที่สุด โดยช่องสำหรับใส่อุปกรณ์วัด Gunther IMU จะอยู่บริเวณด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก เนื่องจากผลการทดสอบพบว่าเป็นตำแหน่งที่สามารถตรวจวัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด
การใช้งานก็ทำได้ง่ายเพียงใส่อุปกรณ์วัด Gunther IMU ให้ถูกด้านในช่องใส่อุปกรณ์บริเวณกระดูกสันหลังระหว่างสะบัก และสวมเสื้อผ้าปกติทับ จากนั้นตั้งค่าอุปกรณ์เริ่มต้นด้วยท่าที่ถูกต้อง ในระหว่างวันหากผู้ใช้ทำท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและหกล้ม อุปกรณ์ก็จะสั่นแจ้งเตือนเพื่อให้ผู้ใช้ปรับท่าทางให้เหมาะสม สำหรับกรณีที่เกิดการหกล้ม อุปกรณ์จะแจ้งเตือนและติดต่อไปยังผู้ดูแล

ปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2567) นวัตกรรมนี้กำลังทดสอบกับอาสาสมัครที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพื่อรับข้อเสนอแนะในการใช้งานจริง (ทั้งในส่วนของอุปกรณ์วัด แอปพลิเคชัน และชุดสำหรับติดอุปกรณ์) มาใช้ปรับปรุงอุปกรณ์ให้เหมาะสมและใช้งานง่ายยิ่งขึ้น
ทีมวิจัยมุ่งหวังว่านวัตกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่มีพลังสามารถทำงานและทำกิจกรรมได้อย่างคล่องตัวและปลอดภัย ขณะเดียวกันลูกหลานก็อุ่นใจ เพราะระบบจะแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบการหกล้มทำให้ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ :